วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2558

ไอเดียในการบริหารพอร์ท


เรื่องไอเดียในการบริหารพอร์ท



โดยปกตินะครับ พอร์ทเรานี่แหละ จะบอกภาวะตลาดได้คร่าวๆ เหมือนกัน
ผมก็ดูง่ายๆ ว่าหุ้นในพอร์ทผมมันขึ้นในสัดส่วนเท่าไหร่ เช่น มีหุ้นสิบตัว มันขึ้นแค่ 2-3 ตัว นี่ผมต้องระวังละ
รอบนี้ก็เข้าข่ายนี้เลย มีหุ้นอยู่สิบตัว ขึ้นเกิน 10% แค่ 2 ตัว นอกนั้นก็แกว่งๆ ขึ้นบ้าง ย่อบ้าง ลงเยอะบ้าง
พอ macd ระยะเดย์ตัดลง แต่ macd ใน tf60 ตัดขึ้น ผมก็เตรียมตัวแล้ว ว่าถ้า macd tf60 ตัดลง ผมจะล้างพอร์ท

วันนี้ก็อย่างที่เห็นนะครับ ช่วงเช้าๆ ขึ้นไป ยืนไม่ค่อยได้
ตอนเที่ยง ผมเลยทยอยขาย dw ในพอร์ทก่อน พร้อมกับทยอยขายหุ้นที่มีกำไรออกไปบางส่วน
ทำไมขาย dw ก่อน ผมมีหลักง่ายๆ นะครับ ว่าตัวไหนจะทำความเสียหายให้พอร์ทมากกว่า ผมจะชิงขายก่อน

สร้างความเสียหายให้พอร์ท ผมอยากเน้นคำนี้ เพราะเป็นคำที่มันจะช่วยสร้างสภาวะจิตใจที่ดีในการลงทุน
ผมมีหลักในภาพใหญ่เลยคือผมจะคงเงินสดไว้ในพอร์ทเท่าไหร่
รอบนี้ผมเทรดสูงสุดคือมีเงินสด 50% ในพอร์ท
ทำไม 50% อันนี้คิดง่ายๆ เลยว่าตลาดมันขึ้นมาเยอะแล้ว upside มันจำกัด ไม่เหมือนตอนกลับตัว
แล้วจากนั้น ผมจึงมาดูในภาพย่อยอีกที ว่าผมจะ bet เท่าไหร่ใน product ที่เสี่ยงสูง ซึ่งปกติ dw ผมจะเทรดแค่ประมาณ 10% ของ เงินที่เข้าไปในแต่ละรอบ ก็คือ 10% ของ 50% ก็เท่ากับ 5%ของพอร์ทใหญ่
5% นี่แหละ จะเป็น maximum ที่ทำให้พอร์ทเสียหายสูงสุด ในกรณีที่ผมลืมคัทลอส เข้าเน็ตไม่ได้ โปรแกรมพัง หรืออะไรก็ตามทีที่ผมไม่สามารถไปคีย์ซื้อขายได้

ตรงนี้สำคัญยังไง
การวางแผนความเสียหายพอร์ทไว้แล้ว มันทำให้เราไม่กลัว ไม่กังวลจนเกินไปน่ะครับ
และมันก็น่าแปลกนะครับ อย่างผมทำมาเรื่อยๆ จะเจอบ่อยมากที่ พอเราขาย เราไล่คัท แล้วตลาดมันจะลงต่อ ทั้งที่ว่ากันตามจริง เราไม่ได้สนใจเรื่องความแม่น เน้นการวิเคราะห์ตลาดอย่างเอาเป็นเอาตายอยู่แล้ว เพียงแค่เราคุ้นกับพอร์ทเรามากกว่า
ถ้าผมซื้อแล้วมันไม่ขึ้นนี่ ผมต้องดูแลมันมากหน่อยละ อันนี้เป็นภาวะปกติที่ผมมักเจอ เวลามันจะลง

ย้อนกลับไปตรงความกังวล
ก็เพราะ 5% ของ dw ตรงนี้เอง ที่ทำให้ผมไม่กลัวมาก อย่างถ้าวันนี้บังเอิญไม่ได้ดูตอนมันจะลงมาแรงๆ ผมก็เสียหายแค่ 5% นี่แหละ ผมก็ยังมีเงินอีก 95% เหลือ ในขณะที่หุ้น อย่างที่บอกผมดูไว้แล้วว่ามันมีตัวที่กำไร 10% ขึ้นไปอยู่ ถัวๆ กันแล้ว วันนี้ขายล้างพอร์ทไปก็ได้กำไรมานิดหน่อย ก็ไม่เป็นไร ดีกว่าเราขาดทุน
ขายจนพอเงินสดมันกลับมาในระดับที่วางแผนก็พอ หุ้นตัวไหนยังกำไรอยู่ก็เหลือไว้ ตรงนี้เป็นอีกจุดที่พอเราทำมาเรื่อยๆ เราจะคุ้นกับพอร์ทเราจนรู้สึกได้เองว่าเสี่ยงเท่านี้ เราพอดีๆ

ที่ผมเขียนมาทั้งหมด เป็นการยกตัวอย่างนะครับว่า พอเราวางแผนการขาดทุนไว้แล้ว อย่างอื่นมันจะไม่ยาก พอถึงตอนต้องขายล้างพอร์ท ก็ขายๆ ออกมา ไม่ได้คิดมากอะไร เงินสดยังเหลือ ตลาดจะขึ้นรอบหน้า ก็ยังมีทุนให้เทรดต่อได้ ทุนไม่เหลือ ก็จะได้แค่มองตาปริบๆ
นอกจากกราฟแล้ว ตัวเราเองนี่แหละ ที่ต้องศึกษามากที่สุด ศึกษาให้รู้จังหวะ รู้จิตใจ รู้ความโลภความกลัวในตัวเอง แล้วหาวิธีที่เหมาะกับตัวเอง การลงทุนมันก็จะไม่ยุ่งยากจนรบกวนชีวิตปกติของเรา

ตลาดจะลงไปถึงไหน ผมไม่รู้หรอก
ผมรู้แค่ว่า ถ้ามันลงจบแล้วจะกลับมาขึ้น ต้องมีผมอยู่ในขบวนนั้นด้วย
เงินยังเหลือในพอร์ท ก็นั่งรอได้เรื่อยๆ ครับ.

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปัญหาของนักลงทุนคืออะไร ???

ถ้าธุรกิจ ตั้งต้นจากการคิดหาสินค้าหรือบริการเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า งานเขียนเรื่องการลงทุนที่เราเขียนหลายชิ้น ก็ตั้งต้นแบบเดียวกัน
ปัญหาของนักลงทุนคืออะไร คือสิ่งที่สะกิดใจและเป็นโจทย์ให้เริ่มคิด เริ่มเขียน
จากการย้อนมองดูตัวเอง จากการตามอ่านความเห็นของนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ รวมทั้ง จากหนังสือ ตำรับตำรา จากงานเขียนของคนอื่นๆ
เรื่องที่ยากที่สุดในการลงทุนไม่ใช่กราฟ เพราะถ้าเรายังมองเห็น แยกแยะสีได้ ดูไปนานๆ ก็คุ้น ก็ดูเป็น
งบการเงิน เปิดอ่านทีแรกลายตา แต่ละตัวแต่ละบรรทัด เชื่อมโยงสัมพันธ์กันยังไง แต่ดูไป ทดลองไป ก็จะพอคลำทางเจอ
สิ่งที่ยากที่สุดกลับเป็นเรื่องที่อยู่ข้างในตัวนักลงทุนเอง 
ในส่วนลึกลงไปในจิตใจเราเอง 
Mindset ของเราเอง การค้นหาตัวเอง และการเอาชนะตัวเราเอง
หาสิ่งเหล่านี้เจอ การอยู่รอดมันจะไม่ยาก
อยู่รอดได้ โอกาสมาถึงก็จะไปต่อได้ ความสำเร็จก็ยังพอมีทาง
คนที่รอดไม่ได้ ยังติดดอย ยังขาดทุน หนักกว่านั้นคือล้มละลายหายไปจากตลาด สาเหตุจึงมาจาก ยังไม่รู้ตัว แต่ลงทุนเกินตัว 
ยังไม่รู้จริง แต่ลงทุนเกินจริง
ยังไม่เข้าใจตัวเอง แต่เข้าใจไปเอง
เดินยังไม่เป็น แต่ข้ามไปวิ่งเลย เมื่อหกล้มก็หัวร้างข้างแตกเป็นธรรมดา
ชนะตัวเองได้ ก็ชนะตลาดได้ไม่ยาก
อยากขายทำกำไรแล้ว แต่วินัยมันรั้งไว้ ไม่บอกให้ขาย หมูที่เกือบกดขายไปก็ตัวใหญ่ขึ้นๆ ทำกำไรได้มากกว่า
ต้องขายแล้ว ใจบอกอยากถือลุ้น แต่ระบบที่วางไว้บอกขาย ดอยเห็นอยู่รำไร ตัดสินใจตามอารมณ์ได้ขึ้นไปชื่นชมความงามบนนั้นแน่ 
ถ้าชนะใจตัวเองได้ ตัดขายออกมารอดู ต่อให้ขายแล้วขึ้น ก็ไม่ไปใส่ใจ เพราะรู้ว่าตลาดไม่ไปไหน มีครั้งหน้าให้ลงทุนได้อีก 
ทำได้แบบนี้ก็ไม่มีใครมาขังเราไว้บนสุดยอดปลายดอยได้
ขุดให้ลึก หาให้เจอ หาตัวเราในใจเราให้เจอ แล้วเอาชนะมัน เปลี่ยนมัน
ทำอย่างเดิม แล้วจะคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง มันจะเป็นไปได้ยังไง
ผลมาจากเหตุ ผลไม่ได้ ต้องแก้ที่เหตุ
ลงทุนผิดพลาด อย่ามัวแต่โทษใคร
เขาบอกมา เราไม่กดซื้อ เขาลือมา เราไม่คล้อยตาม ใครจะมาทำอะไรเราได้
เราจะได้ไปต่อหรือออกจากเกม มีแต่เรา ตัวเรา ใจเราเท่านั้นที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง หรือออกทะเลไปจนเกินวกกลับมา
ความเก่งไม่ได้ประทานมาจากฟ้า แต่มันมาจากความไม่ยอมแพ้
แพ้ใจตัวเอง ก็จะแพ้ตลอดไป
ชนะได้เมื่อไหร่
ก็จะชนะไปตลอดกาล.

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

My investing scenario in the next 10 years


โครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป จากการที่คนรุ่นใหม่แต่งงานกันช้าลง นอกจากที่จำนวนผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากขึ้นแล้ว ยังเกิด gap ของค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลทั้งฝ่ายชายและหญิง
เนื่องจากระยะเวลาการสร้างครอบครัวที่เริ่มต้นช้าลง
ช่วงระยะของการมีรายได้เพิ่มจนชนะค่าใช้จ่ายส่วนตัวจะกว้างขึ้น
ทำให้เกิดมนุษย์พันธุ์ โสด ออมได้ เงินเหลือ และต้องการลงทุนมากขึ้น

ประกอบกับการศึกษาในระบบที่ยังอ้างอิงแนวคิดลำดับชั้นแบบเก่า ปิดกั้นความรู้ทางการเงินเพื่อสร้างระยะห่างทางชนชั้น จะทำให้ความกระหายในความรู้เรื่องการเงิน การลงทุนมีมากกว่าเดิม
เรายังเชื่อว่า ตลาดของคอร์สการฝึกอบรมระยะสั้นๆ จะเติบโตได้เรื่อยๆ พร้อมกันกับที่ต่อไปผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะสร้างตัวเองจากแหล่งทุนในตลาดทุน มากกว่าพึ่งพิงบุญเก่าของตระกูลตัวเอง รวมถึงการกู้ยืมเงินจากธนาคาร
คนรุ่นอีก 10 ปีข้างหน้า จะได้รับโอกาสจากความรู้ในการลงทุน เพื่อมีชีวิตคู่ขนานไปกับการทำงานประจำในองค์กรใหญ่ ๆ
ในขณะเดียวกัน องค์กรขนาดใหญ่ เมื่อเจอภาวะทรัพยากรบุคคลมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป พร้อมกันกับที่การเติบโตในประเทศเริ่มมี gap น้อยลง ก็จะถูกบีบให้ต้องกลายเป็นองค์กรข้ามชาติ ออกไปลงทุนยังต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ยิ่งต้องพึ่งพาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
Less is more จะไม่ใช่ motto เท่ห์ๆ อีกต่อไป
การทำน้อยได้มากจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการอยู่รอดในทศวรรษหน้า
3G ยังโตได้อีกมาก และจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในอนาคตอันใกล้
ในฟากตรงกันข้าม คนอีกกลุ่มที่มีอัตราค่าครองชีพโตกว่าการเติบโตของรายได้ จะยิ่งเป็นปัจจัยทำให้กลุ่มทุนมีความสำคัญในระดับของการกู้ยืมมาจับจ่ายใน ชีวิตประจำวัน
วิกฤตทางการเงินถ้ามีเกิดขึ้น จึงจะยิ่งหนักหน่วงรุนแรงขึ้น พร้อมกับระยะห่างของชนชั้นทางการเงินจะยิ่งถ่างออกมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยมุมมองทั้งหมดนี้ ทำให้ investing scenario in the next 10 years ของเราคือ
.
.
.
เดี๋ยวก่อนๆ จะรีบไปไหน ขอใช้หมอง นั่งมาธิก่อน อ่อ

การลงทุนเหมือน การปั่นจักรยาน ??



ทำไมชอบเปรียบเทียบการลงทุนเหมือนการปั่นจักรยาน
ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่า เหมือนการว่ายน้ำด้วย
เพราะ สองสิ่งนี้ ทั้งปั่นจักรยานและว่ายน้ำ ถ้าเราทำเป็นแล้ว ต่อให้เว้นว่างห่างจากมันไป เมื่อถึงเวลาต้องทำมัน เราก็จะยังทำได้
ลงทุนเป็นแล้ว เป็นเลย ยากจะย้อนไปหกล้มแข้งขาหักได้อีก
ถ้าต้นทุนในการปั่นจักรยานคือแข้งขาถลอก ต้นทุนในการว่ายน้ำเป็นคือจม สำลักน้ำ ตะคริวกิน
ต้นทุนในการลงทุนให้เป็นก็มีมากกว่านั้น
คำแนะนำที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่ จึงเป็นว่า เมื่อเริ่มต้น ให้ลงทุนด้วยทุนน้อยๆ ก่อน จนเริ่มเรียนรู้ เข้าใจ หาทางของตัวเองเจอ ถึงเริ่มเพิ่มเงินในพอร์ท


แบบนั้นก็รวยช้าสิ - หลายคนสงสัยทำไมต้องยั้งมือ
คำตอบง่ายๆ - ใช่ เพราะไม่ยั้งมือไง หลายคนถึงยังติดดอย คอยเธอมารับกลับที่สุดปลายสูงสุด
มีแน่ๆ คนที่ทำได้ เข้ามาใช้เวลาน้อยก็ประสบความสำเร็จ แต่นั่นย่อมมีเบื้องหลังที่การทำงานหนักมาก ทุ่มเท หาวิธี ปรับแนวคิดได้ไว
รวยเร็วมีทางแน่ แต่ยากกว่า
รวยช้าๆ มีทางแน่ แต่ก็ไม่ง่าย
ต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่า ตัวเราถนัดอะไร ชอบ เชื่อ อยู่กับการลงทุนแบบไหนได้นาน
ลงทุนตรงนิสัย ยังไงก็ไปต่อได้ และไปแบบสบายๆ ไม่ต้องเครียดมาก
ที่ชอบเขียนมากเหมือนกัน คือการหาตัวเองให้เจอ
เพราะการลงทุน คือการทำซ้ำ
กำไรซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ค่อยๆ ทบต้นขึ้นไป - ก็ทำแบบที่เราทำแล้วชอบ ทำแล้วมันใช่นั่นแหละ
มันออกจะน่าเบื่อ แต่เชื่อแน่ว่าหลายคนอยากเจอความน่าเบื่อนี้
เจอได้แน่ๆ เพราะมันอยู่ในตัวเรานี่เอง
ชอบดูกราฟ ชอบดูงบการเงิน ชอบที่ดิน ชอบทองคำ ชอบทำ dca ทำไปเลย ทำจนมันช่ำชอง จนมันอยู่ได้เอง ความสำเร็จก็จะมา
เหมือนปั่นจักรยาน ความสุขอยู่ตอนลมปะทะหน้า
ว่ายน้ำ ความสุขอยู่ตอนแหวกว่ายไปในสายน้ำ
ลงทุน ความสุขอยู่ตอนมันพอดี
กับชีวิต กับความต้องการ กับความฝัน
ค่อยๆ เดินไปพร้อมกัน
เลิกหกล้มก็ชื่นชมกับความงดงามได้ตลอดไป.

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

ถ้าทำงานหนักแล้วรวย ทาสก็ต้องรวยที่สุด


ชอบประโยค ' ถ้าทำงานหนักแล้วรวย ทาสก็ต้องรวยที่สุด เพราะทำงานหนัก ' 
ไม่ได้ชอบเพราะเห็นด้วยนะ แต่ชอบเพราะมันคิดต่อยอดได้เยอะ
เรื่องแรก ทาสทำงานหนักแล้วไม่รวยนี่ เป็นเรื่องชนชั้นชัดเจน
ทำเพื่อให้ผลผลิตตกอยู่แก่เจ้าของ แก่นายทาสของตน
น่าสนใจด้วยว่า เหมือนยุคปัจจุบันจะเลิกทาสไปแล้ว แต่ความเป็นจริงก็ไม่
เรายังเห็นทาสวัตถุนิยม ทาสกระเป๋า ทาสมือถือ gadget เทคโนโลยี
ถ้าฐานะพอเหมาะจะเป็นสาวกได้ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ ก็จะกลายเป็นทาสที่หนักที่สุด คือทาสบัตรเครดิต และทาสหนี้นอกระบบ
เรายังคงยืนยันความเชื่อเดิม ว่าเรายังมีชนชั้นอยู่เสมอ ไม่เคยหายไป 
โดยเฉพาะชนชั้นทางการเงิน ที่แบ่งโดยฝั่งของดอกเบี้ย
ฝั่งได้ กับฝั่งเสีย
อยู่ฝั่งได้ ก็กินอยู่สบาย มีคนหาเงินมาให้ใช้
อยู่ฝั่งเสีย ก็ทำมาหาได้ ต้องมาโดนหยิบส่วนแบ่งทุกเดือนๆ ให้คนอีกฝั่งไป
ทาสจึงยังไม่เคยหายไป แค่เปลี่ยนรูปเท่านั้นเอง
เรื่องต่อมา การทำงานหนัก กับการทำงานที่มีน้ำหนักนั้น เกาะเกี่ยวสัมพันธ์สืบเนื่องกัน
ทำงานหนัก เพื่อเรียนรู้ ลองถูกลองผิด สร้างทักษะ สร้างความแข็งแกร่ง สั่งสมประสบการณ์
เมื่อถึงคราวที่ต้องทำงานที่มีน้ำหนัก ก็ขยับมาทำงานที่ทำน้อยได้มาก ทำงานบน OPT (other people time) ทำงานบนเงินลงทุนที่ทำงานแทนเรา
เรามักนึกถึงการขายของให้ได้เงินล้าน
ถ้าขายของชิ้นละบาท ต้องขายให้ได้ล้านชิ้น
ผลิตเยอะ หาลูกค้าเยอะ วิ่งรอก ติดต่อ เดินสาย ต้องทำงานหนัก
แต่ถ้าขายของชิ้นละห้าแสน ขายสองชิ้นก็พอ
ขายยากหน่อย แถมต้องค้นคว้า หาข้อมูล ลงทุนแต่งตัว สร้างอิมเมจให้ดูดี น่าเชื่อถือ
ก็ทำงานหนักประมาณหนึ่ง แต่การทำงานที่มีน้ำหนักไปด้วย เมื่อทักษะถึง ความชำนาญได้ มันคุ้มกว่าที่จะลงทุนลงแรงสร้างมันขึ้นมา
ทาสไม่รวยที่สุด เพราะทาสอยู่ในชนชั้นที่ต่ำกว่านายทาส
คนทำงานหนัก ไม่รวย เพราะมัวแต่ทำงาน ไม่พัฒนาตัวเองไปทำงานที่มีน้ำหนัก ไม่ขยับชนชั้นตัวเอง ไปอยู่ฝั่งที่ได้ดอกเบี้ย
ทำงานหนัก ก็รวยได้ ถ้าคิดเป็น

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

สิ่งที่อยากเล่า จากการประมูลรถมือสอง


ออกไปสังเกตุการณ์การประมูลรถมือสอง จากนั้นก็เลยไปสํารวจราคาที่ดิน ก่อนแวะไปดู อ.พาณิชย์ที่ซื้อไว้นี่คือสิ่งที่อยากบันทึกไว้
-  นักลงทุน เทรดเดอร์ และพ่อค้า นั้นมีความคล้ายกันมาก โดยเฉพาะเรื่องการประเมินสินทรัพย์
-  รถมือสอง วัดกันที่ความไว ประสบการณ์ในการตีมูลค่ารถ และราคากลางในใจของแต่ละคน โดยผู้ทําการประเมินใช้เสียงการเพิ่มราคาในการเร้าอารมณ์ผู้ประมูล นี่มันอารมณ์ เดียวกันกระดานหุ้นชัดๆ
-  ที่ดิน จะมีการบวกราคาต่อหน่วยไว้สูง เผื่อต่อราคา และจริงๆ แล้วที่ดินนั้น ต้องใช้เงินเย็นลงทุน โอกาสต่อรองจึงอยู่ฝั่งผู้ซื้อค่อนข้างมาก การมองการณ์ไกล และวิสัยทัศน์ คือข้อได้เปรียบของเกม
-  การแชร์ความเสี่ยงตามลําดับขั้น และการเล่นกับเงินต่อเงินคือหัวใจของเกมการประมูล หรือรวมไปถึง การซื้อมาขายไปกินส่วนต่างทั้งหลายแหล่
-  ออกไปข้างนอก ให้เห็นมุมมอง สังเกตุผู้คน ให้เห็นแอ๊คชั่น และเกมที่อยู่เบื้องหลัง
Asset ที่ undervalue คือสิ่งที่ทั้ง นักลงทุน เทรดเดอร์ และพ่อค้า ต้องการ

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

หนี้ !


-         หนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เรื่องน่ากลัวคือการเป็นหนี้โดยไม่เข้าใจ ไม่มีการวางแผน

-         ถ้าวางแผนดีๆ หนี้ก็จะมีประโยชน์ในระยะยาว

-         หนี้ คือเงินในอนาคต ซึ่งใช้ดอกเบี้ยมาเป็นตัวกำหนดทั้งในด้านความเสี่ยงของการใช้คืนหนี้ และในส่วนของ มูลค่าในอนาคตของหนี้

-         การวางแผนการเป็นหนี้ จึงต้องสัมพันธ์กับรายได้ ความเสี่ยงทางการเงิน

-         และสำคัญมากคือศักยภาพในการเติบโตของรายได้ของผู้ที่จะเป็นหนี้

-         ก่อนจะเป็นหนี้ ให้ดูที่รายได้ของตัวเองก่อนเป็นสำคัญ

-         เพื่อให้เราสามารถบริหารเงินได้ครบทุกมุม คือต้องมีเหลือเก็บออมไว้เผื่อยามฉุกเฉิน และเพื่อการลงทุนให้มันงอกเงย เราจึงต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการกำหนดสัดส่วนของการเป็นหนี้ เพื่อกำหนดว่าเราจะสามารถผ่อนหนี้ได้เดือนละเท่าไหร่ ซึ่งโดยทั่วไป แนะนำกันที่ไม่เกิน 40% ของรายได้

-         ต่อมา เคล็ดลับสำคัญของการเป็นหนี้ให้ได้ประโยชน์ คือเราต้องมีหนี้ดีให้ได้เร็วที่สุด

-         ง่ายที่สุดของหนี้ดีคือบ้าน คืออสังหาริมทรัพย์ (โดยส่วนตัวอยากเน้นที่บ้านที่มีที่ดินด้วย เพื่อเป็น margin of safety เพิ่มเข้ามา )

-         กลไกของมันคือ อสังหา จะเพิ่มมูลค่าตามเงินเฟ้อ และมักจะชนะเงินเฟ้อในระยะยาว ตามธรรมชาติของการขยายตัวของประชากร แต่ที่ดินมันไม่ได้เพิ่มตามได้ทันการเพิ่มขึ้นของคน

-         หนี้บ้าน เป็นหนี้ก้อนใหญ่ ถ้าลองคำนวณเงินทั้งก้อนที่เราต้องผ่อนบ้านจนครบ 30 ปี คิด IRR กลับมา ดอกเบี้ยจริงๆ จะอยู่ประมาณ 3% กว่าๆ ซึ่งใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ

-         ดอกเบี้ยบ้านที่ดูเหมือนจะเยอะ จริงๆ มันเทียบเคียงกับเงินเฟ้อเท่านั้นเอง

-         ดังนั้น เมื่ออสังหามันเพิ่มมูลค่าในระยะยาวที่ประมาณ 5-7% ต่อปี แต่ดอกเบี้ยบ้านในระยะยาวอยู่ที่ 3% ต่อปี ถึงจุดหนึ่ง ความมั่งคั่งของผู้เป็นหนี้ก็จะเกิดขึ้น เพราะมูลค่าอสังหามันแซงหน้ามูลค่าหนี้ที่เหลืออยู่

-         อีกด้านที่ต้องดูคือ การเติบโตของรายได้

-         เงินเฟ้อจะเป็นพื้นฐานที่เราต้องมีรายได้เติบโตให้ชนะอัตราเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่งมันต้องมาจากการพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มศักยภาพ เพิ่ม  value ให้ตัวเอง

-         กลไกของมันคือ เมื่อเรากู้เงิน ยอดเงินที่ผ่อนแต่ละเดือนมันจะคงที่ ถ้ารายได้เราโตทุกปี สัดส่วนของเงินผ่อนมันจะลดลง ( แต่เมื่อมองในองค์รวม เราก็อาจจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากการมีครอบครัว มีลูก มีภาระรับผิดชอบมากขึ้น ) ความเสี่ยงก็จะลดลงตามไปด้วย

-         เมื่อเข้าใจกลไกของมันแล้ว การสร้างความมั่งคั่ง จึงเป็นการทำกลไกนี้ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก อาศัยการวางแผนด้วยความเข้าใจ และอาศัยระยะเวลาให้ทั้งสามองค์ประกอบมันเอาชนะกันได้ในระยะยาว

-         หนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าเราวางแผนดี มีหนี้ดีก็คือหนี้ที่เอาไปลงทุนไว้ใน asset ที่เพิ่มมูลค่าได้ในอนาคต และสำคัญมาก ถ้ารายได้เราเติบโตชนะเงินเฟ้อได้ทุกๆ ปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นหนี้ลงจากสัดส่วน ณ วันที่เราเริ่มต้นเป็นหนี้

-         หนี้ที่น่ากลัวคือหนี้ที่ไม่ได้วางแผน หนี้ที่ไม่ความคุมความเสี่ยง หนี้ที่เอามาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซื้อแต่ของที่ไม่เพิ่มมูลค่าในอนาคต

-         ความแตกต่างของคนรวยกับคนจนอยู่ตรงมุมมองและความคิดแค่นั้นเอง .


ads

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Hostgator Discount Code