วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ปัญหาของนักลงทุนคืออะไร ???

ถ้าธุรกิจ ตั้งต้นจากการคิดหาสินค้าหรือบริการเพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า งานเขียนเรื่องการลงทุนที่เราเขียนหลายชิ้น ก็ตั้งต้นแบบเดียวกัน
ปัญหาของนักลงทุนคืออะไร คือสิ่งที่สะกิดใจและเป็นโจทย์ให้เริ่มคิด เริ่มเขียน
จากการย้อนมองดูตัวเอง จากการตามอ่านความเห็นของนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ รวมทั้ง จากหนังสือ ตำรับตำรา จากงานเขียนของคนอื่นๆ
เรื่องที่ยากที่สุดในการลงทุนไม่ใช่กราฟ เพราะถ้าเรายังมองเห็น แยกแยะสีได้ ดูไปนานๆ ก็คุ้น ก็ดูเป็น
งบการเงิน เปิดอ่านทีแรกลายตา แต่ละตัวแต่ละบรรทัด เชื่อมโยงสัมพันธ์กันยังไง แต่ดูไป ทดลองไป ก็จะพอคลำทางเจอ
สิ่งที่ยากที่สุดกลับเป็นเรื่องที่อยู่ข้างในตัวนักลงทุนเอง 
ในส่วนลึกลงไปในจิตใจเราเอง 
Mindset ของเราเอง การค้นหาตัวเอง และการเอาชนะตัวเราเอง
หาสิ่งเหล่านี้เจอ การอยู่รอดมันจะไม่ยาก
อยู่รอดได้ โอกาสมาถึงก็จะไปต่อได้ ความสำเร็จก็ยังพอมีทาง
คนที่รอดไม่ได้ ยังติดดอย ยังขาดทุน หนักกว่านั้นคือล้มละลายหายไปจากตลาด สาเหตุจึงมาจาก ยังไม่รู้ตัว แต่ลงทุนเกินตัว 
ยังไม่รู้จริง แต่ลงทุนเกินจริง
ยังไม่เข้าใจตัวเอง แต่เข้าใจไปเอง
เดินยังไม่เป็น แต่ข้ามไปวิ่งเลย เมื่อหกล้มก็หัวร้างข้างแตกเป็นธรรมดา
ชนะตัวเองได้ ก็ชนะตลาดได้ไม่ยาก
อยากขายทำกำไรแล้ว แต่วินัยมันรั้งไว้ ไม่บอกให้ขาย หมูที่เกือบกดขายไปก็ตัวใหญ่ขึ้นๆ ทำกำไรได้มากกว่า
ต้องขายแล้ว ใจบอกอยากถือลุ้น แต่ระบบที่วางไว้บอกขาย ดอยเห็นอยู่รำไร ตัดสินใจตามอารมณ์ได้ขึ้นไปชื่นชมความงามบนนั้นแน่ 
ถ้าชนะใจตัวเองได้ ตัดขายออกมารอดู ต่อให้ขายแล้วขึ้น ก็ไม่ไปใส่ใจ เพราะรู้ว่าตลาดไม่ไปไหน มีครั้งหน้าให้ลงทุนได้อีก 
ทำได้แบบนี้ก็ไม่มีใครมาขังเราไว้บนสุดยอดปลายดอยได้
ขุดให้ลึก หาให้เจอ หาตัวเราในใจเราให้เจอ แล้วเอาชนะมัน เปลี่ยนมัน
ทำอย่างเดิม แล้วจะคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง มันจะเป็นไปได้ยังไง
ผลมาจากเหตุ ผลไม่ได้ ต้องแก้ที่เหตุ
ลงทุนผิดพลาด อย่ามัวแต่โทษใคร
เขาบอกมา เราไม่กดซื้อ เขาลือมา เราไม่คล้อยตาม ใครจะมาทำอะไรเราได้
เราจะได้ไปต่อหรือออกจากเกม มีแต่เรา ตัวเรา ใจเราเท่านั้นที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทาง หรือออกทะเลไปจนเกินวกกลับมา
ความเก่งไม่ได้ประทานมาจากฟ้า แต่มันมาจากความไม่ยอมแพ้
แพ้ใจตัวเอง ก็จะแพ้ตลอดไป
ชนะได้เมื่อไหร่
ก็จะชนะไปตลอดกาล.

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2557

My investing scenario in the next 10 years


โครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป จากการที่คนรุ่นใหม่แต่งงานกันช้าลง นอกจากที่จำนวนผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนมากขึ้นแล้ว ยังเกิด gap ของค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลทั้งฝ่ายชายและหญิง
เนื่องจากระยะเวลาการสร้างครอบครัวที่เริ่มต้นช้าลง
ช่วงระยะของการมีรายได้เพิ่มจนชนะค่าใช้จ่ายส่วนตัวจะกว้างขึ้น
ทำให้เกิดมนุษย์พันธุ์ โสด ออมได้ เงินเหลือ และต้องการลงทุนมากขึ้น

ประกอบกับการศึกษาในระบบที่ยังอ้างอิงแนวคิดลำดับชั้นแบบเก่า ปิดกั้นความรู้ทางการเงินเพื่อสร้างระยะห่างทางชนชั้น จะทำให้ความกระหายในความรู้เรื่องการเงิน การลงทุนมีมากกว่าเดิม
เรายังเชื่อว่า ตลาดของคอร์สการฝึกอบรมระยะสั้นๆ จะเติบโตได้เรื่อยๆ พร้อมกันกับที่ต่อไปผู้ประกอบการรุ่นใหม่จะสร้างตัวเองจากแหล่งทุนในตลาดทุน มากกว่าพึ่งพิงบุญเก่าของตระกูลตัวเอง รวมถึงการกู้ยืมเงินจากธนาคาร
คนรุ่นอีก 10 ปีข้างหน้า จะได้รับโอกาสจากความรู้ในการลงทุน เพื่อมีชีวิตคู่ขนานไปกับการทำงานประจำในองค์กรใหญ่ ๆ
ในขณะเดียวกัน องค์กรขนาดใหญ่ เมื่อเจอภาวะทรัพยากรบุคคลมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป พร้อมกันกับที่การเติบโตในประเทศเริ่มมี gap น้อยลง ก็จะถูกบีบให้ต้องกลายเป็นองค์กรข้ามชาติ ออกไปลงทุนยังต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ยิ่งต้องพึ่งพาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
Less is more จะไม่ใช่ motto เท่ห์ๆ อีกต่อไป
การทำน้อยได้มากจะกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของการอยู่รอดในทศวรรษหน้า
3G ยังโตได้อีกมาก และจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในอนาคตอันใกล้
ในฟากตรงกันข้าม คนอีกกลุ่มที่มีอัตราค่าครองชีพโตกว่าการเติบโตของรายได้ จะยิ่งเป็นปัจจัยทำให้กลุ่มทุนมีความสำคัญในระดับของการกู้ยืมมาจับจ่ายใน ชีวิตประจำวัน
วิกฤตทางการเงินถ้ามีเกิดขึ้น จึงจะยิ่งหนักหน่วงรุนแรงขึ้น พร้อมกับระยะห่างของชนชั้นทางการเงินจะยิ่งถ่างออกมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยมุมมองทั้งหมดนี้ ทำให้ investing scenario in the next 10 years ของเราคือ
.
.
.
เดี๋ยวก่อนๆ จะรีบไปไหน ขอใช้หมอง นั่งมาธิก่อน อ่อ

การลงทุนเหมือน การปั่นจักรยาน ??



ทำไมชอบเปรียบเทียบการลงทุนเหมือนการปั่นจักรยาน
ซึ่งจริงๆ ต้องบอกว่า เหมือนการว่ายน้ำด้วย
เพราะ สองสิ่งนี้ ทั้งปั่นจักรยานและว่ายน้ำ ถ้าเราทำเป็นแล้ว ต่อให้เว้นว่างห่างจากมันไป เมื่อถึงเวลาต้องทำมัน เราก็จะยังทำได้
ลงทุนเป็นแล้ว เป็นเลย ยากจะย้อนไปหกล้มแข้งขาหักได้อีก
ถ้าต้นทุนในการปั่นจักรยานคือแข้งขาถลอก ต้นทุนในการว่ายน้ำเป็นคือจม สำลักน้ำ ตะคริวกิน
ต้นทุนในการลงทุนให้เป็นก็มีมากกว่านั้น
คำแนะนำที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่ จึงเป็นว่า เมื่อเริ่มต้น ให้ลงทุนด้วยทุนน้อยๆ ก่อน จนเริ่มเรียนรู้ เข้าใจ หาทางของตัวเองเจอ ถึงเริ่มเพิ่มเงินในพอร์ท


แบบนั้นก็รวยช้าสิ - หลายคนสงสัยทำไมต้องยั้งมือ
คำตอบง่ายๆ - ใช่ เพราะไม่ยั้งมือไง หลายคนถึงยังติดดอย คอยเธอมารับกลับที่สุดปลายสูงสุด
มีแน่ๆ คนที่ทำได้ เข้ามาใช้เวลาน้อยก็ประสบความสำเร็จ แต่นั่นย่อมมีเบื้องหลังที่การทำงานหนักมาก ทุ่มเท หาวิธี ปรับแนวคิดได้ไว
รวยเร็วมีทางแน่ แต่ยากกว่า
รวยช้าๆ มีทางแน่ แต่ก็ไม่ง่าย
ต้องเข้าใจให้ได้ก่อนว่า ตัวเราถนัดอะไร ชอบ เชื่อ อยู่กับการลงทุนแบบไหนได้นาน
ลงทุนตรงนิสัย ยังไงก็ไปต่อได้ และไปแบบสบายๆ ไม่ต้องเครียดมาก
ที่ชอบเขียนมากเหมือนกัน คือการหาตัวเองให้เจอ
เพราะการลงทุน คือการทำซ้ำ
กำไรซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ค่อยๆ ทบต้นขึ้นไป - ก็ทำแบบที่เราทำแล้วชอบ ทำแล้วมันใช่นั่นแหละ
มันออกจะน่าเบื่อ แต่เชื่อแน่ว่าหลายคนอยากเจอความน่าเบื่อนี้
เจอได้แน่ๆ เพราะมันอยู่ในตัวเรานี่เอง
ชอบดูกราฟ ชอบดูงบการเงิน ชอบที่ดิน ชอบทองคำ ชอบทำ dca ทำไปเลย ทำจนมันช่ำชอง จนมันอยู่ได้เอง ความสำเร็จก็จะมา
เหมือนปั่นจักรยาน ความสุขอยู่ตอนลมปะทะหน้า
ว่ายน้ำ ความสุขอยู่ตอนแหวกว่ายไปในสายน้ำ
ลงทุน ความสุขอยู่ตอนมันพอดี
กับชีวิต กับความต้องการ กับความฝัน
ค่อยๆ เดินไปพร้อมกัน
เลิกหกล้มก็ชื่นชมกับความงดงามได้ตลอดไป.

วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2557

ถ้าทำงานหนักแล้วรวย ทาสก็ต้องรวยที่สุด


ชอบประโยค ' ถ้าทำงานหนักแล้วรวย ทาสก็ต้องรวยที่สุด เพราะทำงานหนัก ' 
ไม่ได้ชอบเพราะเห็นด้วยนะ แต่ชอบเพราะมันคิดต่อยอดได้เยอะ
เรื่องแรก ทาสทำงานหนักแล้วไม่รวยนี่ เป็นเรื่องชนชั้นชัดเจน
ทำเพื่อให้ผลผลิตตกอยู่แก่เจ้าของ แก่นายทาสของตน
น่าสนใจด้วยว่า เหมือนยุคปัจจุบันจะเลิกทาสไปแล้ว แต่ความเป็นจริงก็ไม่
เรายังเห็นทาสวัตถุนิยม ทาสกระเป๋า ทาสมือถือ gadget เทคโนโลยี
ถ้าฐานะพอเหมาะจะเป็นสาวกได้ก็ดีไป แต่ถ้าไม่ ก็จะกลายเป็นทาสที่หนักที่สุด คือทาสบัตรเครดิต และทาสหนี้นอกระบบ
เรายังคงยืนยันความเชื่อเดิม ว่าเรายังมีชนชั้นอยู่เสมอ ไม่เคยหายไป 
โดยเฉพาะชนชั้นทางการเงิน ที่แบ่งโดยฝั่งของดอกเบี้ย
ฝั่งได้ กับฝั่งเสีย
อยู่ฝั่งได้ ก็กินอยู่สบาย มีคนหาเงินมาให้ใช้
อยู่ฝั่งเสีย ก็ทำมาหาได้ ต้องมาโดนหยิบส่วนแบ่งทุกเดือนๆ ให้คนอีกฝั่งไป
ทาสจึงยังไม่เคยหายไป แค่เปลี่ยนรูปเท่านั้นเอง
เรื่องต่อมา การทำงานหนัก กับการทำงานที่มีน้ำหนักนั้น เกาะเกี่ยวสัมพันธ์สืบเนื่องกัน
ทำงานหนัก เพื่อเรียนรู้ ลองถูกลองผิด สร้างทักษะ สร้างความแข็งแกร่ง สั่งสมประสบการณ์
เมื่อถึงคราวที่ต้องทำงานที่มีน้ำหนัก ก็ขยับมาทำงานที่ทำน้อยได้มาก ทำงานบน OPT (other people time) ทำงานบนเงินลงทุนที่ทำงานแทนเรา
เรามักนึกถึงการขายของให้ได้เงินล้าน
ถ้าขายของชิ้นละบาท ต้องขายให้ได้ล้านชิ้น
ผลิตเยอะ หาลูกค้าเยอะ วิ่งรอก ติดต่อ เดินสาย ต้องทำงานหนัก
แต่ถ้าขายของชิ้นละห้าแสน ขายสองชิ้นก็พอ
ขายยากหน่อย แถมต้องค้นคว้า หาข้อมูล ลงทุนแต่งตัว สร้างอิมเมจให้ดูดี น่าเชื่อถือ
ก็ทำงานหนักประมาณหนึ่ง แต่การทำงานที่มีน้ำหนักไปด้วย เมื่อทักษะถึง ความชำนาญได้ มันคุ้มกว่าที่จะลงทุนลงแรงสร้างมันขึ้นมา
ทาสไม่รวยที่สุด เพราะทาสอยู่ในชนชั้นที่ต่ำกว่านายทาส
คนทำงานหนัก ไม่รวย เพราะมัวแต่ทำงาน ไม่พัฒนาตัวเองไปทำงานที่มีน้ำหนัก ไม่ขยับชนชั้นตัวเอง ไปอยู่ฝั่งที่ได้ดอกเบี้ย
ทำงานหนัก ก็รวยได้ ถ้าคิดเป็น

วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2557

สิ่งที่อยากเล่า จากการประมูลรถมือสอง


ออกไปสังเกตุการณ์การประมูลรถมือสอง จากนั้นก็เลยไปสํารวจราคาที่ดิน ก่อนแวะไปดู อ.พาณิชย์ที่ซื้อไว้นี่คือสิ่งที่อยากบันทึกไว้
-  นักลงทุน เทรดเดอร์ และพ่อค้า นั้นมีความคล้ายกันมาก โดยเฉพาะเรื่องการประเมินสินทรัพย์
-  รถมือสอง วัดกันที่ความไว ประสบการณ์ในการตีมูลค่ารถ และราคากลางในใจของแต่ละคน โดยผู้ทําการประเมินใช้เสียงการเพิ่มราคาในการเร้าอารมณ์ผู้ประมูล นี่มันอารมณ์ เดียวกันกระดานหุ้นชัดๆ
-  ที่ดิน จะมีการบวกราคาต่อหน่วยไว้สูง เผื่อต่อราคา และจริงๆ แล้วที่ดินนั้น ต้องใช้เงินเย็นลงทุน โอกาสต่อรองจึงอยู่ฝั่งผู้ซื้อค่อนข้างมาก การมองการณ์ไกล และวิสัยทัศน์ คือข้อได้เปรียบของเกม
-  การแชร์ความเสี่ยงตามลําดับขั้น และการเล่นกับเงินต่อเงินคือหัวใจของเกมการประมูล หรือรวมไปถึง การซื้อมาขายไปกินส่วนต่างทั้งหลายแหล่
-  ออกไปข้างนอก ให้เห็นมุมมอง สังเกตุผู้คน ให้เห็นแอ๊คชั่น และเกมที่อยู่เบื้องหลัง
Asset ที่ undervalue คือสิ่งที่ทั้ง นักลงทุน เทรดเดอร์ และพ่อค้า ต้องการ

วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

หนี้ !


-         หนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เรื่องน่ากลัวคือการเป็นหนี้โดยไม่เข้าใจ ไม่มีการวางแผน

-         ถ้าวางแผนดีๆ หนี้ก็จะมีประโยชน์ในระยะยาว

-         หนี้ คือเงินในอนาคต ซึ่งใช้ดอกเบี้ยมาเป็นตัวกำหนดทั้งในด้านความเสี่ยงของการใช้คืนหนี้ และในส่วนของ มูลค่าในอนาคตของหนี้

-         การวางแผนการเป็นหนี้ จึงต้องสัมพันธ์กับรายได้ ความเสี่ยงทางการเงิน

-         และสำคัญมากคือศักยภาพในการเติบโตของรายได้ของผู้ที่จะเป็นหนี้

-         ก่อนจะเป็นหนี้ ให้ดูที่รายได้ของตัวเองก่อนเป็นสำคัญ

-         เพื่อให้เราสามารถบริหารเงินได้ครบทุกมุม คือต้องมีเหลือเก็บออมไว้เผื่อยามฉุกเฉิน และเพื่อการลงทุนให้มันงอกเงย เราจึงต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการกำหนดสัดส่วนของการเป็นหนี้ เพื่อกำหนดว่าเราจะสามารถผ่อนหนี้ได้เดือนละเท่าไหร่ ซึ่งโดยทั่วไป แนะนำกันที่ไม่เกิน 40% ของรายได้

-         ต่อมา เคล็ดลับสำคัญของการเป็นหนี้ให้ได้ประโยชน์ คือเราต้องมีหนี้ดีให้ได้เร็วที่สุด

-         ง่ายที่สุดของหนี้ดีคือบ้าน คืออสังหาริมทรัพย์ (โดยส่วนตัวอยากเน้นที่บ้านที่มีที่ดินด้วย เพื่อเป็น margin of safety เพิ่มเข้ามา )

-         กลไกของมันคือ อสังหา จะเพิ่มมูลค่าตามเงินเฟ้อ และมักจะชนะเงินเฟ้อในระยะยาว ตามธรรมชาติของการขยายตัวของประชากร แต่ที่ดินมันไม่ได้เพิ่มตามได้ทันการเพิ่มขึ้นของคน

-         หนี้บ้าน เป็นหนี้ก้อนใหญ่ ถ้าลองคำนวณเงินทั้งก้อนที่เราต้องผ่อนบ้านจนครบ 30 ปี คิด IRR กลับมา ดอกเบี้ยจริงๆ จะอยู่ประมาณ 3% กว่าๆ ซึ่งใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ

-         ดอกเบี้ยบ้านที่ดูเหมือนจะเยอะ จริงๆ มันเทียบเคียงกับเงินเฟ้อเท่านั้นเอง

-         ดังนั้น เมื่ออสังหามันเพิ่มมูลค่าในระยะยาวที่ประมาณ 5-7% ต่อปี แต่ดอกเบี้ยบ้านในระยะยาวอยู่ที่ 3% ต่อปี ถึงจุดหนึ่ง ความมั่งคั่งของผู้เป็นหนี้ก็จะเกิดขึ้น เพราะมูลค่าอสังหามันแซงหน้ามูลค่าหนี้ที่เหลืออยู่

-         อีกด้านที่ต้องดูคือ การเติบโตของรายได้

-         เงินเฟ้อจะเป็นพื้นฐานที่เราต้องมีรายได้เติบโตให้ชนะอัตราเงินเฟ้อให้ได้ ซึ่งมันต้องมาจากการพัฒนาตัวเองเพื่อเพิ่มศักยภาพ เพิ่ม  value ให้ตัวเอง

-         กลไกของมันคือ เมื่อเรากู้เงิน ยอดเงินที่ผ่อนแต่ละเดือนมันจะคงที่ ถ้ารายได้เราโตทุกปี สัดส่วนของเงินผ่อนมันจะลดลง ( แต่เมื่อมองในองค์รวม เราก็อาจจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น จากการมีครอบครัว มีลูก มีภาระรับผิดชอบมากขึ้น ) ความเสี่ยงก็จะลดลงตามไปด้วย

-         เมื่อเข้าใจกลไกของมันแล้ว การสร้างความมั่งคั่ง จึงเป็นการทำกลไกนี้ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก อาศัยการวางแผนด้วยความเข้าใจ และอาศัยระยะเวลาให้ทั้งสามองค์ประกอบมันเอาชนะกันได้ในระยะยาว

-         หนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ถ้าเราวางแผนดี มีหนี้ดีก็คือหนี้ที่เอาไปลงทุนไว้ใน asset ที่เพิ่มมูลค่าได้ในอนาคต และสำคัญมาก ถ้ารายได้เราเติบโตชนะเงินเฟ้อได้ทุกๆ ปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นหนี้ลงจากสัดส่วน ณ วันที่เราเริ่มต้นเป็นหนี้

-         หนี้ที่น่ากลัวคือหนี้ที่ไม่ได้วางแผน หนี้ที่ไม่ความคุมความเสี่ยง หนี้ที่เอามาใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซื้อแต่ของที่ไม่เพิ่มมูลค่าในอนาคต

-         ความแตกต่างของคนรวยกับคนจนอยู่ตรงมุมมองและความคิดแค่นั้นเอง .


วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

ทุนนิยมมันเลว โลกาภิวัฒน์มันวิบัติ !!!!


ในช่วงที่ยังสายลม แสงแดด เกลียดทุนนิยม ชื่นชมความเนิบช้า ใฝ่หาธรรมชาติเดิมๆ
เราก็เป็นคนหนึ่งที่อินกับเรื่องต่อต้านทุนข้ามชาติ ห้างใหญ่ๆ มาเปิดแล้วกระทบกับตลาดสดของชาวบ้าน ร้านโชว์ห่วยหายไป

จนมาวันนี้ เมื่อได้เห็นอีกด้านของโลกที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับตัว เราได้แต่เสียดาย
เสียดายที่แทนที่จะเอาแต่กร่นด่าว่าทุนนิยมมันเลว โลกาภิวัฒน์มันวิบัติ ถ้าเราหาทางสร้างสิ่งที่เรียกว่า ความสามารถในการแข่งขัน โฉมหน้าของประเทศก็คงเป็นอีกแบบ
เหมือนการมานั่งบอกว่า อย่าเพิ่งสร้างรถไฟความเร็วสูงเพราะเรายังมีถนนลูกรังน่ะแหละ
เพราะสุดท้ายเมื่อรัฐบาลเปลี่ยน เราก็ยังต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ดี ไม่เห็นต้องรอถนนลูกรังหมดประเทศ


เพราะอะไร - เพราะมันจำเป็นจริงๆ ที่เราต้องสร้างความสามารถในการแข่งขันขึ้นมา เพื่อให้ยังเกาะกลุ่มไปกับเขาได้
ถ้ามองไม่เห็น ก็จะไม่รู้ว่าอะไรมันสำคัญ
ทุนนิยมมันมีด้านที่เลวร้ายแน่ๆ แต่มันก็มีด้านดีของมัน
อย่างน้อย ทุนนิยมมันก็ให้โอกาสคน ขีดเส้นใต้ไปด้วยว่า ถ้าคนคนนั้นมองเห็นโอกาสมากมายที่ซ่อนอยู่
อย่างน้อย ทุนนิยมก็มีช่องทางให้คนธรรมดา ถ้ารู้จักลงทุน ถ้ารู้จักปรับตัว สามารถขยับสถานะของตัวเองขึ้นมาได้

อย่างน้อย ทุนนิยมก็พยายามปรับตัว ไม่มัวแต่ชี้นิ้วด่าว่านั่นไม่ดี นี่เลว ทั้งที่ในความเป็นจริง คอมมิวนิสต์ สังคมนิยม ก็มีช่องโหว่ในระบบให้คนกลุ่มหนึ่งเสพสุขสำราญทำนาบนหลังคนไม่ต่างกัน
ถ้าเรามีชีวิตอยู่ในต่างจังหวัดที่กำลังเริ่มพัฒนา เราจะเริ่มเห็นภาพต่อไปนี้
...ขับรถออกจากโซนของเมือง ผ่านห้างโมเดิร์นเทรด 
ข้างทางมีตลาดนัด แม่ค้าเอาของพื้นบ้านมาวางขาย 
พอขายของได้ ก็ขับรถเข้าเมือง ไปช็อปปิ้งในห้าง ซื้อข้าวของเครื่องใช้ เอากลับไปไว้ขายในร้านโชห่วยของตัวเองในหมู่บ้าน

ที่บ้านมีจานดาวเทียม เสาอากาศแบบเดิมหายไป
ละครก็ยังดู แต่เบื่อเสียงกรี๊ดกร๊าดวี้ดว้ายเมื่อไหร่ ก็มีช่องสารคดี หนัง เพลง การเมืองให้เลือกดู
เบื่อทีวี สัญญาณ 3G เริ่มมา ก็นั่งเล่นมือถือไป
ฝนตก เสียงกบร้อง แฟนชวนออกไปหากบ ก็ได้อาหารอีกมื้อที่ไม่ต้องซื้อ แถมวันต่อไปก็มีของไปขายในตลาดนัดมากขึ้น
กลับมา อาบน้ำ แต่งตัว นั่งเฝ้าร้าน แฟนขับมอเตอร์ไซค์ไปนา บ่ายมาเตรียมปิดร้าน เอาของไปขายที่ตลาดนัด เช็คของเหลือในร้าน จดรายการไว้
ขายของในตลาดนัดเสร็จ ได้เงินมา ก็ไปห้าง
ซื้อของมาเติมไว้ในร้าน ไว้ขายต่อไป
ทุนนิยมมันกระทบธุรกิจเดิมในหลายที่ แต่มันกำลังกระจายโอกาสออกไปในหลายที่พร้อมๆ กัน
ระบบเดิมมีคนรวยอยู่แค่ไม่กี่กลุ่ม ในขณะที่ทุกวันนี้ แม้ไม่ถึงขั้นรวย แต่หลายพื้นที่เริ่มลืมตาอ้าปากได้จากทุนที่หมุนลงไป
โลกไม่ได้มีสายลมแสงแดดไว้แค่ให้เรานั่งชื่นชม
แต่ยังมีไว้ให้คนกลุ่มหนึ่งคิดว่าจะแปรมันมาเป็นพลังงานยังไง
เพื่อให้คนที่มัวแต่นั่งชื่นชมความงาม ไม่ได้พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันใดๆ
ได้ใช้ร่วมกัน.

วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

จาก เมา สู่เซียนหุ้น เราพัฒนาตัวเองได้



เห็นหลายคนยังบ่นเรื่องเซ็ง" ติดดอย " นั่งลุ้นให้ตลาดหยุดตก ให้หุ้นในพอร์ทขึ้นกัน ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งที่เคยคิดๆ ไว้

ผมมองว่า จุดอ่อนอย่างหนึ่งของ รายย่อย คือออกจากตลาดไม่เป็น
 ชอบลุ้น ชอบเดา ชอบคาดหวัง ชอบคิดไปว่า กำไรมากๆ ต้องมาจากการซื้อได้ต่ำสุดเพื่อไปขายที่สูงสุด
ผมอาจจะไม่ใช่คนเก่งมากระดับเซียนอะไรนะครับ แต่ประสบการณ์มันสอนให้ผมออกจากตลาดเป็น ถ้าผมจะล้างพอร์ทออกมารอดูตลาดแล้ว (จริงๆ ผมล้างออกมาพร้อมซื้อ dw put มาด้วยนะครับ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเท่าไหร่ เพราะต้องลงลึกในรายละเอียดอีกแบบ )

ทำไมผมล้างพอร์ทออกมา อย่างที่ผมเขียนบอกไปน่ะแหละ เครื่องมือง่ายๆ ผมก็แค่ macd ตัดลง ผมก็รอหาจังหวะออก รวมถึงในเมนท์ผมก็เขียนบอกว่า ระยะเดย์ macd ตัดขึ้นเมื่อไหร่ ผมก็กลับเข้าไปใหม่
มันเป็นความเก่งกาจอะไรมั้ยที่มองตลาดออก 
ผมยืนยันเลยว่าไม่ใช่
บ่อยครั้งไปนะครับ ที่ผมล้างพอร์ทออกมามันขึ้นต่อ แต่พอมันขึ้น ผมก็กลับเข้าตลาดได้เลย ไม่ได้ลังเลอะไร
ประเด็นมันอยู่ตรง Mind set ตรงความคิดในใจมากกว่าครับ
การลงทุน การเทรด ผมจึงเน้นอยู่ตลอดว่า อย่าคิดไปเอง และต้องทำ MM ต้องพยายามเข้าใจจิตวิทยาให้ได้ แล้วมันจะไม่ยาก
อีกอันที่ผมนึกออก แล้วน่าจะแทงใจใครหลายคน คืออย่าไปคิดเข้าข้างตัวเองเด็ดขาด
ผมเดาได้เลยว่า หลายคน พอตลาดลง จะวิ่งวนหาบทวิเคราะห์ที่เข้าข้างตัวเอง
ตรงนั้นน่าจะรับอยู่ ตลาดน่าจะไปถึงเท่านั้นเท่านี้ ยังถือได้ รอเด้งขาย รอรับไปขายเล่นสั้น

ผมเดาได้เลย เพราะผมก็เคยเป็นแบบนี้
เป็นแบบนี้มาก่อนในตอนที่คิดว่า เซียนคนนั้นแม่น เซียนคนนี้เทพจริง เขาจะช่วยชี้แนะทางเราได้
จนมาวันนี้ ผมก็บอกได้เลยเหมือนกันว่า เซียนที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง เราต้องฝึกตัดสินใจเอง คิดเอง วางแผนเอง แล้วลงมือทำเอง
ไม่มีเซียนคนไหนจับมือเรากดซื้อกดขายได้ มีแต่ความคิดเราที่เอาไปผูกกับคนอื่นไว้ ว่าเขาจะช่วยชี้ทางสว่างให้เราร่ำรวยขึ้นมาได้

ผมเขียนเรื่องนี้เพราะคิดได้อีกอย่างหนึ่งว่า ผมพยายามหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์ตลาด หรือหลีกเลี่ยงการให้หุ้นมาก ด้วยเหตุผลเดียวคือ ถ้าผมบอกแล้วถูก หรือผมบอกแล้วผิด ผมก็ไม่สมารถรับผิดชอบใครที่ทำตามผมได้
ทำตามผมแล้วถูก แต่ขายไม่เป็น ก็ใช่ว่าจะได้กำไร
ทำตามผมแล้วผิด ก็ยิ่งรู้สึกไม่ดี เพราะไม่รู้จะไปบอกยังไงว่าให้คัทลอสขายทิ้ง
ผมจึงต้องพยายามบอก และเขียนซ้ำๆ ย้ำๆ ว่า นักลงทุนจะพัฒนาตัวเองได้ก็ต่อเมื่อค้นหาตัวเองเจอ คิดเอง วางแผนได้เอง กล้าตัดสินใจ กล้ารับผิดชอบในความคิดตัวเอง
เพราะทุนน่ะมันเป็นเงินของเรา มีแต่เรามีต้องรักและหวงแหนมันไว้ ไม่ให้เราขาดทุน

เวลาเข้าไปตามห้องนั้นห้องนี้ เข้าไปหาความรู้จริงๆ ดีกว่าเข้าไปหาว่าตอนนี้ตลาดจะขึ้น หรือลง หุ้นตัวไหนจะดี ตัวไหนจะกำไร
ต่อให้หาเจอ ต่อให้บอกได้ ก็ไม่มีใครดูแลเราได้ตลอดไป
เราต้องหาวิธีคิดให้เจอ
หาให้เจอ แล้วไปเรียนรู้ต่อยอดเอาเอง

อยู่ในตลาดหุ้น เล่นแล้วมีกำไร มีความสุข
แต่ตลาดลง เอาตัวรอดไม่ได้ ก็อาจต้องออกจากตลาดไปในสักวัน

อยากเป็นเซียน ต้องเรียนรู้ความคิดจากเซียน ไม่ใช่มัวแต่ขูดหาเลขเด็ดจากเซียน
เท่าที่เห็นมา เซียนหลายคน แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองเข้าใจมันมากที่สุด
แค่นั้นเองคือวิถีของเซียน

เราทุกคนจึงเป็นเซียนได้
ด้วยการหาว่าสิ่งที่เราเข้าใจมันมากที่สุดคืออะไรให้เจอ.

ปีชง ชงที่ปีหรือชงที่ความคิดเรา ?


ในความทรงจำ ปีชงเพิ่งจะมาแพร่หลายเป็นที่รู้จักไม่เกินสิบปีหลังนี้ จนกลายเป็นกระแสที่ต้องมีคนลงไปทำบุญแก้ชง มีข้อมูลเผยแพร่กันทุกปีว่าคนราศีไหนชง ราศีไหนไม่ชง
แล้วก่อนที่จะมีความเชื่อนี้เข้ามา เราอยู่กันมายังไง ?

ความเชื่อเรื่องโชคลางเป็นความเชื่อมาตรฐาน ไม่เฉพาะสังคมไทย ที่ไหนในโลกก็มีความเชื่อแบบนี้ สามารถสืบค้นย้อนกลับไปเรื่องการดูดวง ทำนายทายทัก โชคชะตาราศีกันได้ในแทบทุกพื้นที่ของโลก
วัดแต่ละตัวบุคคลได้เลย เราแบ่งคนได้เป็นหลายกลุ่มย่อยถ้าเอาความเชื่อเรื่องพวกนี้เป็นตัววัด ตั้งแต่คนที่เชื่อแบบสุดลิ่มทิ่มประตู คนที่เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง คนที่ไม่เชื่อแต่ไม่ลบหลู่ และคนที่ไม่เชื่อเลย

ดวงและความซวย กลายเป็นแพะรับบาปเสมอมา สำหรับคนที่เชื่อ และพร้อมจะโยนความไม่สะดวก ความผิดพลั้งพลาดในชีวิตให้กับความซวย

ปีนี้ปีชง กลายเป็นคำติดปากสำหรับหลายคนเวลาที่มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น มีความลำบาก ยากเย็นผ่านเข้ามาในชีวิต
ถูกผิด พิสูจน์ยาก เพราะมนุษย์มีความโน้มเอียงที่จะตีความให้เข้ากับธงที่ปักไว้ในใจอยู่แล้ว ต่อให้เรื่องร้ายถูกปัดเป่าออกไปได้ด้วยเหตุผลอื่น คนเราก็พร้อมจะอ้างอิงว่า ปัญหาชีวิตถูกแก้ไขได้ด้วยการแก้ชง 

ถูกผิด พิสูจน์ยาก แต่ที่แน่ๆ เราสรุปได้เลยว่า การตลาดเรื่องปีชงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี รายได้เข้าวัดที่รับทำพิธีแก้ชงยังอุ่นหนาฝาคั่งทุกๆปี

ความจริงอีกด้านที่เราอาจจะหลงลืมไป คือความคิดเราเป็นอย่างไร ปากเราพูดอย่างไร ชีวิตเราก็จะเป็นไปในทางนั้น
ปากบอกว่าซวย ชีวิตก็จะพบเจอแต่ความซวย นั่นก็ซวย นี่ก็ซวย โน่นก็ซวย

แต่พอความซวยชนิดเดียวกัน เกิดขึ้นกับอีกคน เขากลับไม่คิดว่านั่นคือความซวย เขากลับมองว่ามันคือบททดสอบที่ผ่านเข้ามา ให้เขาแข็งแกร่งมากขึ้น 

ยามอยู่ในความซวยนั้น อาจจะจิตใจแกว่งไกวบ้าง ครั้นพอผ่านมาได้ เขากลับยิ่งใช้บทเรียนเหล่านั้น  เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเขาเอง จนสามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวข้ามความซวยมาได้ ไม่ผิดพลาดซ้ำอีกในเรื่องเดิมๆ
ไม่นับรวมว่า แค่ความคิด แค่ไม่ออกปากว่าซวย เขาก็ไม่ต้องเสียเงินซักบาทไปตระเวนไหว้พระแปดวัดเก้าวัดเพื่อล้างซวย

ต้นทุนชีวิต มาจากต้นทุนความคิด
คิดดี คิดบวก ต้นทุนด้านบวกก็เยอะ
ต้นทุนด้านบวกเยอะ ชีวิตก็บวกเยอะ
คิดแย่ คิดลบ ต้นทุนด้านลบก็เยอะ
ต้นทุนด้านลบเยอะ ชีวิตก็มีแต่ความซวย
และส่งต่อความรวยให้กับบรรดาซินแสรับแก้ซวยทั้งหลายแทน

คิดได้อย่างนี้ ก็จะเข้าใจได้เองว่า

ความซวย

มันมีที่มาจากที่ไหนกันแน่ .

ads

 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | Hostgator Discount Code